การต่อเรือและปูมเรือที่สำคัญ ของ เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม

เวสเตอร์ดัม ได้มีพิธีตั้งชื่อเรือเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2547 ในนครเวนิส ประเทศอิตาลี โดยนักแสดงชาวดัตช์ เรเน เซาเต็นเดก (Renée Soutendijk)[1] เช่นเดียวกับเรือระดับชั้นวิสตาทั้งหมด เวสเตอร์ดัม ติดตั้งเครื่องกำเนิดกำลังร่วมดีเซลและกังหันก๊าซ (CODAG) และระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า อะซิพอด (Azipod) รูปแบบของชุดงานศิลปะที่ประดับตกแต่งในเรือคือ มรดกของชาวดัตช์ในโลกใหม่ ภาพวาดของเรือในประวัติศาสตร์ของดัตช์เช่น เรือฮัลเฟอมาน (Halve Maen) ของเฮนรี ฮัดสัน ประติมากรรมและรูปปั้นต่าง ๆ จัดแสดงอยู่ทั่วทั้งเรือ ผลงานร่วมสมัยรวมถึงภาพวาดของ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) และประติมากรรมต้นฉบับโดยศิลปินจากเมืองเซโดนา แอริโซนา ซูซานนา โฮลต์ (Susanna Holt)[2] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ได้มีการเพิ่มห้องพัก 34 ห้องรวมทั้งการดัดแปลงพื้นที่สาธารณะหลายแห่งของเรือ[3][4]

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในขณะที่เดินเรือผ่านอ่าวยากุตัต (Yakutat Bay) ทางใต้ของอุทยานแห่งชาติคลูอานี (Kluane National Park) รัฐบริติชโคลัมเบีย เรือเวสเตอร์ดัมได้ชนกับก้อนน้ำแข็งและสร้างความเสียหายให้กับตัวเรือยาว 4.6 เมตร (15 ฟุต) ใต้แนวระดับน้ำ[5]

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เรือเวสเตอร์ดัมเกิดเพลิงไหม้ในห้องเครื่องกลั่นน้ำทะเล หลังจากออกจากท่าเรือซีแอตเทิล มีผู้โดยสาร 2,086 คนและลูกเรือ 798 คนบนเรือโดยไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ เรือได้กลับไปที่ซีแอตเทิลและได้รับการตรวจสอบเพื่อได้รับอนุญาตในการเดินทาง ในวันถัดมาโดยหน่วยยามฝั่งสหรัฐ[6][7]

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เครื่องบินน้ำรุ่น เดอฮาวิลแลนด์แคนาดา ดีเอชซี-3 โอตเตอร์ (de Havilland Canada DHC-3 Otter) ของสายการบิน โพรเมช (Promech Air) นำนักบินและผู้โดยสารอีกแปดคน จากเรือเวสเตอร์ดัม บนเส้นทางท่องเที่ยวของสายการเดินเรือฮอลแลนด์อเมริกา ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐอะแลสกา ได้ชนกับหน้าผาหินแกรนิตระยะห่าง 32 กม. (20 ไมล์) ใกล้ทะเลสาบเอลลา (Ella Lake, Alaska) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเคตชิแกน (Ketchikan) ทั้งเก้าคนเสียชีวิต[8]

เหตุการณ์จากการระบาดทั่วของโคโรนาไวรัส พ.ศ. 2562-2563

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เรือเวสเตอร์ดัมออกเดินทางหลังจากหยุดพักที่ฮ่องกงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้ถูกปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าในประเทศฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น และเกาะกวม จากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)[9][10] หลังจากได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นฝั่งในประเทศไทย เนื่องจากเรือกำลังมุ่งหน้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ใกล้กรุงเทพมหานคร การอนุญาตให้จอดเทียบท่านั้นกลับถูกปฏิเสธในวันถัดไป อย่างไรก็ตามเรือยังคงรักษาเส้นทางสู่กรุงเทพมหานคร และเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เรือเวสเตอร์ดัมได้แล่นเรือไปรอบ ๆ น่านน้ำทางตอนใต้ของเวียดนาม[11][12][13] จากข้อมูลของฟลิป คนิบเบอ (Flip Knibbe) ผู้โดยสารชาวดัตช์บนเรือ ผู้โดยสารทุกคนต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเป็นครั้งที่สอง ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอ็นโอเอส (NOS) ของเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ คนิบเบอ กล่าวว่า "Dit schip is virusvrij": 'เรือลำนี้ปราศจากไวรัส' ต่างจากเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือโยโกฮามะ ในประเทศญี่ปุ่น เรือลำนี้ไม่ได้ถูกกักกัน ทุกคนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ร้านค้าและร้านอาหารเปิดให้บริการ และรายการบันเทิงยังคงดำเนินต่อไป[13]

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์เรือได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่าที่เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา[14] ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มาเลเซียรายงานว่าพลเมืองชาวอเมริกันวัย 83 ปีที่ลงจากเรือเวสเตอร์ดัม และบินไปมาเลเซียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีผลการทดสอบในเชิงบวกสำหรับ COVID-19[15] ในการทดสอบครั้งที่สองซึ่งขอโดยทั้งสายการเดินเรือฮอลแลนด์อเมริกา และทางการกัมพูชาผู้โดยสารหญิงรายนั้นมีผลทดสอบยืนยันเป็นบวก[16] แม้จะมีการพบกรณีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีฮุนเซนก็ได้เข้าเยี่ยมชมเรือโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และสนับสนุนผู้โดยสารในการเที่ยวชมเมือง ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าการพบปะสนทนาดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ[17]

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผู้โดยสาร 233 คนสุดท้ายของเรือ ได้ทำการขึ้นฝั่งทั้งหมดหลังจากการทดสอบการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งผู้โดยสาร 781 คนของเวสเตอร์ดัมให้ผลการทดสอบเป็นลบ[18] ส่วนลูกเรือ 747 คนยังคงอยู่บนเรือ ในระหว่างรอการตัดสินใจจากเจ้าของสายการเดินเรือฮอลแลนด์อเมริกา[19]

เป็นที่เชื่อกันว่ามีผู้โดยสารประมาณ 650 คนบนเรือที่มาจากสหรัฐอเมริกา, 270 คนมาจากแคนาดา, 130 คนมาจากสหราชอาณาจักร, 100 คนจากเนเธอร์แลนด์, 50 คนจากเยอรมนี และผู้โดยสารอีกหลายคนมาจากออสเตรเลีย โดยลูกเรือประกอบด้วยชาวอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่[20]

ใกล้เคียง

เอ็มเอส ซานดัม เอ็มเอสเอ็น เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม เอ็มเอสเค เอ็มเอส โอเอซิสออฟเดอะซีส์ เอ็มเอส อัลลัวร์ออฟเดอะซีส์ เอ็มเอสซีไอ เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ เอ็มเอสดอส เอ็ม. เอส. วลิยัตตาน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม http://www.adn.com/2011/05/11/1858168/cruise-ship-... http://articles.chicagotribune.com/2014-06-29/news... http://cruisebusiness.com/index.php?option=com_con... http://hollandamerica.com/cruiseships/Westerdam http://www.hollandamerica.com/assets/news/FastFact... http://www.hollandamerica.com/assets/news/FastFact... http://www.hollandamerica.com/cruiseships/Westerda... http://www.hollandamerica.com/news/NewsRelease.act... http://www.hollandamerica.com/news/NewsRelease.act... http://www.ibtimes.com/alaska-plane-crash-9-people...